วิกฤตด้านสุขภาพช่วงนี้ส่งผลกระทบต่อสังคมในทุกภาคส่วน
fake news ก็มี
ภาวะเศรษฐกิจก็ต้องจับตา
คงทำให้หลายคนอาจเกิดอาการจิตตกไปบ้าง มาหาวิธีวางแผนรับมือกับความเครียดของตัวเองกันดีกว่า ป้องกันการเกิดปัญหาด้านสุขภาวะตามมาในอนาคต
และนี่คือคำแนะนำในการปรับสมดุลจิตใจที่เรานำมาฝาก
1. อย่าพยายามหาคำตอบว่า “ฉันกังวลมากไปหรือเปล่า”
เพราะมันยิ่งทำให้คุณเครียดหนักกว่าเดิม คนเราสามารถกลัวได้ หากความกลัวนั้นมีพื้นฐานมาจากความจริง
และไม่มีใครกำหนดเพดานไว้ว่ากลัวแค่ไหนถึงจะเพียงพอ
ทางที่ดีดูแลตัวเองตามคำแนะนำให้ดีที่สุด หากเป็นไปได้ให้ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอีกทางหนึ่ง
2. มีลิมิตในการเสพข่าว
เป็นเรื่องดีที่คุณตื่นตัวติดตามข่าวสารตลอดเวลา แต่ผลการวิจัยเชื่อว่า การเสพเรื่องราวที่ทำให้รู้สึกทุกข์ใจซ้ำๆ ยิ่งทำให้เราเกิดความกังวลใจ จนอาจแยกไม่ออกระหว่างข้อมูลจริงกับข้อมูลเท็จ
ทางที่ดีควรเลือกเสพเฉพาะข่าวที่น่าเชื่อถือ และหาแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากหลายช่องทาง
3. คุมเข้มการอัพเดตข่าวบนโซเชียลของตัวเอง
หยุดพฤติกรรมไถเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์เพื่ออัพเดตฟีดข่าวอย่างไร้จุดหมาย เพราะ fake news จำนวนมาก อาจทำให้คุณเครียดโดยไม่รู้ตัว
ทิปส์คือ ลองสร้าง account ใหม่ไว้ดูเฉพาะเรื่องที่จรรโลงใจ หรือใช้บัญชีเดิมแต่ปิดการแจ้งเตือนแฮชแท็กที่เกี่ยวกับเรื่องที่ทำให้เครียดบ้างบางเวลา
4 .โฟกัสเฉพาะสิ่งที่คุณสามารถควบคุมได้
ปล่อยวางเรื่องที่เหนือการควบคุมลงบ้าง อย่าเก็บมาใส่ใจไปเสียทุกอย่าง เพราะยิ่งกังวลมาคุณยิ่งมีข้อสงสัยไม่มีที่สิ้นสุด และเครียดไม่หยุดเช่นกัน
ลองหันมาเอาใจใส่กับสิ่งที่คุณสามารถทำได้ดีในตอนนี้แทน จะช่วยให้คุณรู้สึกดีกับตัวเองมากยิ่งขึ้น
5. อย่าจับจ้องที่ความกังวลตลอดเวลา
การตระหนักและการเฝ้าระวังตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ แต่คุณไม่จำเป็นต้องมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับความกลัวไปเสียทุกเรื่อง จนกลายเป็นคนช่างแพนิก เมื่อตระหนักอย่างมีสติแล้ว คุณจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงได้อย่างมีสติเช่นกัน
6. จดบันทึกเรื่องราวที่ทำให้กังวลใจสัก 15 นาที
วิธีนี้เป็นเทคนิคถ่ายทอดความกังวลภายในใจออกมาภายนอก เวลาที่จดบันทึกคุณจะได้ทบทวนตัวเอง และมองเห็นเรื่องที่ทำให้กังวลได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทิปส์คือ อย่าคิดเยอะ ให้เขียนถึงเรื่องที่กำลังกังวลใจลงไปทันที เพื่อระบายความรู้สึกที่แท้จริงออกมา โดยใน 1 วันคุณสามารถจดบันทึกได้หลายครั้ง เขียนเรื่องเดิมวนไปเรื่อยๆ สักพักคุณจะรู้สึกเบื่อและชินกับความกังวลนั้นเอง
7. ฝึกทำสมาธิสร้างสติ
การฝึกฝนเช่นนี้ช่วยให้จิตใจเราสงบลง และสามารถรับมือกับความวุ่นวายใจได้ดียิ่งขึ้น เมื่อเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง
คุณก็ปล่อยความกังวลได้ไม่ยาก แถมช่วยให้นอนหลับสบายเพราะร่างกายได้รู้สึกผ่อนคลาย
8. เว้นระยะห่างแต่ไม่ตัดขาดจากสังคม
อย่าตัดขาดตัวเองออกจากสังคมโดยเด็ดขาด ถ้าไม่อยากเคว้งคว้างหนักกว่าเดิม อย่าลืมว่าแม้จะต้องกักตัว หรือ Work from home คุณเองก็ยังติดต่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานและครอบครัว เพื่อแชร์เรื่องราวดีๆ ให้กันผ่านโลกโซเชียลได้ เผลอๆ คุณอาจค้นพบเรื่องสนุกใหม่ๆ ผ่านการคุยกันแบบระยะไกลก็เป็นได้
9. บอกตัวเองเสมอ “ฉันทำดีที่สุดแล้ว”
ในช่วงที่มีสิ่งต่างๆ นอกเหนือการควบคุมเยอะมาก พึงตัดสินใจอย่างรอบคอบบนพื้นฐานข้อมูลที่มีอยู่
และไม่ว่าการตัดสินใจครั้งนั้นจะถูกหรือผิด “อย่าโทษ อย่าสบประมาทตัวเอง” เพราะคุณไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้
10. เก็บเกี่ยวแง่มุมดีๆ จากวิกฤตครั้งนี้
ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้อย่าละเลยการหาที่ปรึกษาดี และให้กำลังใจตัวเองด้วยว่า หากรับมือกับความกังวลในครั้งนี้ได้ คุณจะกลายเป็นคนเข้มแข็งที่รับมือกับวิกฤติในอนาคตได้ดีกว่าเดิม