เพราะหาเงินได้เท่าไร อาจไม่สำคัญเท่ากับ ใช้ไปเท่าไร
เว็บไซต์ http://theeverygirl.com ชวนคุณมาจัดสรรบัญชีในรูปแบบ ‘บัญชี A-B-C-D’ ซึ่งจะช่วยให้คุณมองเห็นการไหลเวียนของเงินอย่างเป็นระบบ
วางระบบ ‘บัญชี A-B-C-D’ ตัวย่อจำง่ายๆ บัญชี A – Activities หรือกิจกรรมสันทนาการ บัญชี B – Bills หรือค่าใช้จ่าย บัญชี C – Crisis หรือช่วงเวลาวิกฤติ และบัญชี D – Dream หรือความใฝ่ฝัน
การตั้งชื่อย่อแบบนี้ นอกจากจะทำให้คุณจำได้ง่ายๆ ว่าแต่ละบัญชีมีไว้เพื่ออะไรแล้ว ยังช่วยทำให้รู้ว่า “ควรจะใช้เงินในแต่ละบัญชีอย่างไรด้วย”
A = Activities – กิจกรรมสันทนาการ
บัญชีนี้มีไว้สำหรับกิจกรรมบันเทิงต่างๆ แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ความต้องการ” ไม่ใช่ “ความจำเป็น” ไม่ว่าจะเป็นการออกไปกินข้าว ช้อปปิ้ง หรือปารตี้ยามดึกกับเพื่อนๆ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวกับกิจกรรมประเภทนี้ (ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นซ้ำเป็นรอบบิล) จะถูกเบิกออกมาใช้จ่ายจากบัญชี “A” ลองหาบัตรเดบิตสักใบที่เชื่อมต่อกับบัญชี A เพื่อป้องกันความพยายามที่จะใช้เงินจากบัญชีอื่นๆ ไปกับกิจกรรมที่ไม่จำเป็น
การมีหลายบัญชีแยกกันทำให้ง่ายต่อการมองเห็นจำนวนเงินที่เหลือสำหรับกิจกรรมรื่นเริงในแต่ละเดือนได้ทันที การมีบัญชีสำหรับใช้จ่ายจะช่วยให้คุณมองเห็นและตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าควรจะตัดค่าใช้จ่ายส่วนไหนออกถ้าจำเป็น และถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมีความมุ่งมั่นที่จะเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมาย ก็อาจจะโอนเงินที่เหลือจากบัญชีนี้ในแต่ละเดือนไปยังบัญชี “C” หรือ “D” เพื่อการออมอีกด้วย
B = Bills – ค่าใช้จ่าย
บัญชี “B” เป็นบัญชีที่เกี่ยวกับรายจ่ายทางธุรกิจต่างๆ ควรจะกันเงินออกจากมาเป็นจำนวนเท่าๆ กันทุกเดือนใส่ไว้ในบัญชีนี้สำหรับจ่ายบิลต่างๆ เช่น ค่าเช่า บิลมือถือ ค่างวดรถยนต์ เบี้ยประกัน และอื่นๆ ที่จำเป็น รวมถึงการชำระหนี้ต่างๆ ด้วย จากบัญชีทั้งหมดที่มี (ถ้าจะให้ดี บัญชี B นี้ควรแยกไว้สำหรับหักรายจ่ายแบบอัตโนมัติ รวมถึงเซ็ตให้เป็นบัญชีที่ใช้สำหรับรับเงินเดือนจากบริษัทด้วย)
C = Crisis – ช่วงเวลาวิกฤติ
บัญชี “วิกฤติ” คือบัญชีสำหรับออมเงินที่มีไว้สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด และบัญชีนี้ควรมีเงินเก็บเพียงพอล่วงหน้ามากกว่าเงินเดือนที่คุณได้รับ ลองหยุดดื่มลาเต้ร้อนๆ ในเช้าวันจันทร์เพื่อเก็บสะสมเงินก้อนนี้ หรือเริ่มต้นด้วยการออมเงิน 5% จากเงินเดือน และค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละ 1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาผ่านไป “บัญชี C” นี้จะเป็นบัญชีสำหรับรายจ่ายที่คุณไม่คาดคิด
D = Dream – ความใฝ่ฝัน
บัญชีสุดท้ายเป็นบัญชีเงินออม สำหรับสิ่งที่คุณอยากจะทำสักครั้งในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทริปการท่องเที่ยวพักผ่อนครั้งใหญ่ หรือความฝันที่จะมีบ้านเป็นของตัวเอง ควรเป็นเก็บเงินออมระยะยาวไว้ใน “บัญชี D” และจะไม่ยุ่งกับมันเลย (และนี่ไม่ใช่บัญชีที่เอาไว้ออมเงินสำหรับถอนออกมาใช้ยามที่เดือดร้อน ) ซึ่งการแยกบัญชีเงินออมสำหรับ “ช่วงเวลาวิกฤติ” และ “ความใฝ่ฝัน” ช่วยให้คุณสามารถออมเงินได้ตามเป้าหมายระยะยาวได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการแบ่งส่วนเงินเพื่อการออมในละเดือนอีกด้วย หลังจากที่คุณออมเงินได้ตามเป้าหมายในบัญชีสำหรับช่วงเวลาวิกฤติแล้ว ก็สามารถจัดสรรและแบ่งมาออมในบัญชี Dream ได้ และสามารถมองหาดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้นจากบัญชีฝากประจำหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นจะต้องถอนเงินออกมาใช้
เพราะการจัดสรรเงินที่ดีที่สุดหมายถึงวิธีที่สามารถใช้งานได้นานและเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคุณ และจะดีแค่ไหนที่คุณได้ใช้ชีวิตและได้ใช้เงินอย่างคุ้มค่า
เอาล่ะ มาลองเริ่มต้นออมแบบ ABCD กันเถอะ!