ในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ หากมองในแง่ดี นี่คือโอกาสอันดีที่ทำให้เราได้หันมามองตัวเอง สำรวจรอยรั่วของกระเป๋าสตางค์ และหันกลับมาทบทวนแผนทางการเงินส่วนตัวอีกครั้ง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะฉุกเฉิน ที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้ถึงคิวของตัวเอง
และนี่คือ 8 ไอเดีย ที่จะช่วยให้คุณเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตได้ดียิ่งขึ้น
8 Step เตรียมพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉินทางการเงิน
Step 1 ออกแบบแผนสำรองทางการเงินไว้ให้พร้อม
จำแนกรายจ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือนออกมา กำจัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก ในกรณีที่คุณขาดรายได้ไปจริงๆ จะได้ประเมินได้ว่าสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้จริงหรือไม่ รวมถึงประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ขายได้เผื่อเอาไว้ด้วย เพราะอาจต้องใช้ในกรณีฉุกเฉิน
Step 2 เริ่มต้นแผนการออมเงิน
แบ่งเงินเดือนอย่างน้อย 10% ไปออมในบัญชีที่คุณตั้งปณิธานว่าจะไม่นำออกมาใช้โดยเด็ดขาด โดยเม็ดเงินในบัญชีขั้นต่ำต้องครอบคลุมรายจ่ายขั้นพื้นฐานของคุณ นานอย่างน้อย 3 เดือน – 1 ปี ซึ่งทริกที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จในการออมมากขึ้นคือ ทำลืมๆ ไปซะว่าคุณมีเงินเก็บส่วนนี้อยู่
Step 3 รีบชำระหนี้ให้หมด
ชำระหนี้บัตรเครดิตให้หมด ผ่อนจ่ายแต่ละเดือนให้ได้มากที่สุด อย่าจ่ายขึ้นต่ำไปเรื่อยๆ หากเป็นไปได้ควรหยุดใช้บัตรไปสักพัก เพราะหากยังใช้อย่างต่อเนื่องจะเป็นการสร้างหนี้เพิ่มทำให้ติดกับดักดอกเบี้ยไม่รู้จบ หากเผชิญภาวะฉุกเฉินที่ทำให้คุณขาดรายได้ คุณจะกลายเป็นคนตกงานที่มีหนี้ก้อนโต
Step 4 ลดค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ไม่จำเป็น
สำรวจรายการสินค้าและบริการที่ต้องจ่ายประจำเดือน แล้วตัดค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็นออกไป โดยเฉพาะประเภทที่สมัครทิ้งไว้แต่ไม่เคยได้ใช้ประโยชน์ นำเงินส่วนนี้ไปออมหรือนำไปปลดหนี้ให้หมดเร็วขึ้นจะดีกว่า
Step 5 อัปเดตข้อมูลในประกันภัยบ้าง
ตรวจสอบข้อตกลงในกรมธรรม์ว่าทันสมัยและคุ้มครองภัยพิบัติด้านโรค สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันหรือเปล่า รวมถึงตัดรายจ่ายสำหรับการคุ้มครองที่ซ้ำซ้อนออก เพื่อลดค่าใช้จ่าย แล้วนำเงินไปออมด้านอื่นแทน
Step 6 อัปเดตเรซูเม่ให้ Perfect อยู่เสมอ
แก้ไขประวัติการทำงาน ความสามารถพิเศษ และทักษะจำเป็นให้ดูดี และตรงตามความต้องการ
ของตลาดแรงงานอยู่เสมอ ลองติดต่อไปหาเพื่อนเก่าในสายอาชีพต่างๆ บ้าง นอกจากนี้คุณยังพัฒนาตัวเองได้ด้วยการฝึกฝนทักษะใหม่ๆ หลังเลิกงาน เพื่อเพิ่มโอกาสในการต่อรองกรณีที่จำเป็นต้องเริ่มงานใหม่ หรืออัปตำแหน่ง
Step 7 มองหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่ม
สำรวจตัวเองดูว่าคุณสามารถทำอะไรเพื่อหารายได้เพิ่มอีกบ้าง ในช่วงเริ่มต้นอาจทำง่ายๆ ที่บ้าน
ไม่เน้นงานพิเศษที่ทำแล้วเครียด ใช้เงินลงทุนน้อยๆ เพื่อหารายได้มาช่วยแบ่งเบารายจ่ายบางประเภท หรือเก็บเป็นเงินออม
แม้อาจไม่ใช่เม็ดเงินที่มากเท่ารายได้หลัก แต่ก็ช่วยพยุงคุณได้ในยามที่เกิดภาวะฉุกเฉินได้
Step 8 ใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่
อาจไม่ต้องถึงกับขายบ้าน ขายรถ แต่เมื่อเกิดวิกฤตทางการเงิน คุณสามารถนำทรัพย์สินเหล่านี้ไปรีไฟแนนซ์เพื่อลดภาระรายจ่ายที่หนักอึ้ง หรือย้ายพอร์ตการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อลดโอกาสในการเผชิญความผันผวนในตลาด ซึ่งทำให้เราเครียดมากยิ่งขึ้น